วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ส่งงาน อาจารย์ บพิตร ตั้งวงศ์กิจ ครั้งที่ 2 วันที่ 1 สิงหาคม 2556




ส่งงาน อาจารย์ บพิตร ตั้งวงศ์กิจ
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 สิงหาคม 2556
นาย เกียรติภูมิ จุลนิพิฐวงษ์ 5420101076

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

สถาปัตยกรรม เชียงแสน ที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่หลังแนวกำบังของหุบเขาราวกับจะหลบเร้นตัวเองจากยุคสมัย และความไหลบ่าของนักท่องเที่ยว ที่พร้อมจะท้าทายวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมล้านนาไท ทว่าอีกด้านหนึ่ง การมาถึงของอารยธรรม และความรุ่งเรืองกลับเป็นสัจธรรมที่ยากจะหลีกหนีได้ ในฐานะประตูม่านย้อยเชื่อมร้อยสามดินแดน บรรจบกันจนแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า ดินแดนสบรวก หรือ สามเหลี่ยมทองคำ อันเลื่องชื่อ

เชียงแสน เดิมคือ อาณาจักรใหญ่ที่สำคัญในดินแดนภาคเหนือ ทว่ากลับอาภัพดังเมืองที่ถูกสาปให้อยู่ภายใต้ ความตึงเครียดของคมหอกแห่งสงคราม และความอึมครึมของการค้าฝิ่นมาช้านาน ก่อนจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีร่องรอยของอดีตกาลเหลือไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ใครที่ใครจะศึกษาผ่านทาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ได้เก็บเกี่ยวเป็นความรู้ไว้ หรือจะเดินทอดน่องท่องตัวอำเภอเชียงแสนในแบบสบายๆ ก็ยังคงมีกลิ่นอายของรากเหง้าวัฒนธรรมเก่าแก่เจือจางให้ได้เห็นเชียงแสนในวันนี้ ยังคงดำเนินตามวิถีที่เรียบง่ายแบบฝังรากลงลึกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การกิน การค้า สันทนาการ แม้ปากแม่น้ำสามเหลี่ยมทองคำจะยังคงคลาคล่ำไปด้วยกาสิโน โอ้อวดยวนเย้าเหล่านักเสี่ยงโชคจากพม่า ลาว และไทย จนกลายเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตและภาพจำที่ติดตา

เส้นทางสายใหม่ที่ถูกตัดผ่านเข้าสู่ตัว อ.แม่สาย รองรับความสะดวกสบายในอนาคต ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทาย ให้นักผจญภัยหัวใจแกร่งควบบิ๊กไบค์สองล้อสัญจรท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวบรรยากาศเมืองเหนือ ที่เหลือคือการตาม รอยอารยธรรมเชียงแสน มรดกโลกล้ำค่าแห่งล่าสุดอายุ 750 ปี ที่ล่วงผ่านวาระการเฉลิมฉลองไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกฟากหนึ่งสู่เชียงแสนที่สะดวกสบายกว่า หากเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายเพียงไม่กี่อึดใจ ประตูสู่เชียงแสนด่านแรก คือเมืองเล็กๆ ที่สงบเงียบ เมื่อย่ำแรกในเมืองเชียงแสนอาจชวนให้แปลกตา หากพบว่าซากกำแพงเมืองโบราณรกร้าง ตามหัวมุมต่างๆ รอบเมืองยังคงหลอมรวมกับวิถีชุมชนสมัยใหม่ ใครก็ตามที่ไม่พิศมัยในวิถีการค้าและแหล่งบันเทิงร่วมสมัย
ความสงบเงียบร่มเย็นในบรรยากาศดั่งต้องมนต์ของชุมชนแห่งนี้ ก็มีเสน่ห์พอยามปรารถนาจะหลบลี้หนีความวุ่นวาย ค้นพบได้จากความร่มเย็น ณ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ตลอดรวมถึงประติมากรรมเก่าแก่จากยุคพ่อขุนเม็งรายที่จะหาชมได้เต็มตาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ตลอดจน เมืองโบราณ จุดชมเมืองเก่าเพื่อย้อนรำลึกถึงความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรล้านนา
เชียงแสน ในอดีตก่อนจะหลอมรวมมาเป็นแผ่นดินเดียว กับ เชียงราย ดังเช่นทุกวันนี้ เคยเป็นดินแดนในครอบครองของเงี้ยว ซึ่งเป็นอริรบร่วมกันกับกองโจรพม่า การสู้รบทำลายสถาปัตยกรรมอันมีค่าของเมืองเชียงแสนจนแทบจะหมดสิ้น ดังบันทึกของ คาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาผู้เข้ามาสำรวจประเทศสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านลายเส้นเอาไว้ดังนี้ว่า “…..เมืองนี้มีซากปรักหักพังซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่แปลกตา ฝีมือประณีตพระเจดีย์บางองค์ ประดับด้วยลวดลายแกะสลัก แต่ทุกองค์ก็ถูกบุกรุกทำลาย ลักเอาของมีค่า ไปจนหมดสิ้น……ตามพื้นดินมีพระพุทธรูปสำริดกองอยู่เกลื่อนกลาด บางองค์ก็มีขนาดใหญ่โตมาก พวกเงี้ยวยังคงมาทำการสักการะ เพราะเป็นปูชนียสถานที่พวกเขานับถือ แต่ถูกพวกเชียงราย (รากเหง้าคนไทยในปัจจุบัน) มาบุกรุกทำลาย…..” จากบันทึกของบ็อคบ่งบอกได้ถึงความรุ่งเรืองของเมืองเชียงแสน

ว่าเคยยิ่งใหญ่ป่านใด แต่ที่น่าสลดใจก็คือ แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังนำพระพุทธรูป จากซากพระเจดีย์กลับยุโรปไป เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้น่าเสียดายว่าแม้แต่ความงามอันทรงคุณค่า ก็ยังพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหาของมนุษย์อยู่ดี ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ชัยภูมิสำคัญอีกด่านหนึ่ง ของเชียงแสนคือที่ประดิษฐานของ พระพุทธนวล้านตื๊อ พระพุทธรูปองค์สำคัญหล่อด้วยทองคำสำริดดูแววาวราวถูกหลอมขึ้นใหม่ เหตุเพราะเป็นองค์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนองค์เดิม ที่จมลงสู่เบื้องล่างของลุ่มน้ำโขง จุดนี้โยงใยเข้ากับบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เป็นจุดชมวิวตะวันยามพลบค่ำ ที่สวยงามเพลินตา หากอากาศดี จะล่องเรือกลางลำน้ำโขง สัมผัสจิตวิญญาณและการเดินทางที่ต่อยอดสู่สิบสองปันนา ก็จะยิ่งเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าน่าจดจำ

ท้องถนนในตัวอำเภอ เชียงแสน ไม่ได้ทำลายมรดกทางสถาปัตยกรรมจากยุคเก่าฉันท์ใด สถาปัตยกรรมกลางเก่า-กลางใหม่ อย่างตู้ไปรษณีย์โบราณก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ อิฐมอญเก่าแก่ตัวแทนที่ยังหลงเหลือของกำแพงเมืองในยุคโบราณ ทิวทัศน์ริมฝั่งโขงแห่งนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่อาหารตา หากแวะมารองท้องหรือต้องการอิ่มหนำย่ำบรรยากาศกับมื้อพิเศษแล้ว ความสุขข้างทางจากแผงขายปลาช่อนกระบอก หยอกเย้ากับลมเอื่อยๆ ริมฝั่งสบรวก หรือมุมกินเที่ยวแบบสะดวก กับตลาดโต้รุ่ง เรียบง่ายในบรรยากาศแบบชาวบ้านในตัวอำเภอ เป็นความเคลื่อนไหวที่ยังรอต้อนรับทุกชีวิต ที่มุ่งผ่านสู่เชียงแสนยามแวะพักให้เราทักทาย เพื่อเก็บแรงไว้พบกับความท้าทายของทริปต่อไป
เช้าสายบ่ายค่ำ เราเดินทางตามใจปรารถนารอบเมือง เชียงแสน สูดกลิ่นไอวัฒนธรรมล้านนาจนชุ่มปอด ต่อยอดการเดินทาง ด้วยการค้นหาแหล่งอารยธรรมเดิมของเมืองเหนือ ข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านปากแม่น้ำอันมีประวัติยาวนาน พบพานเพื่อนร่วมทางที่แตกต่างหลากหลายในแนวคิด แต่มีจิตใจเดียวกันคือการค้นหา เพื่อหวังว่าจะได้กลับมาเยือนอีกครั้งโดยหวังว่าศักราชใหม่ๆ จะไม่พัดพาเอาความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมมาเบียดบังความงามดังเช่นเมืองเก่าอีกหลายๆ เมืองที่เราต้องจำใจบอกลา

บทความน่าอ่านจาก http://www.emaginfo.com ร่วมกับ travel.mthai.com



Review กล้อง CANON 700d


เดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา แคนนอนได้ฤกษ์เปิดตัวกล้องดิจิตอล SLR สำหรับผู้เริ่มต้นรุ่นใหม่ นั่นคือ EOS 700D ออกมาแทนรุ่น EOS 650D ที่วางจำหน่ายยังไม่ทันครบปีดีนัก โดยใช้บอดี้แทบจะไม่ต่างกับ EOS 650D เดิม แต่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพการใช้งานให้ดีมากยิ่งขึ้น หากคุณมีกล้องรุ่น EOS 600D อยู่ซึ่งออกมานานร่วม 2 ปีแล้ว หรือไม่ได้เพิ่งซื้อกล้องรุ่น EOS 650D กล้องรุ่น EOS 700D นี้นับเป็นกล้องที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ

คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจของ Canon EOS 700D ใหม่ อาทิ เซ็นเซอร์รับภาพขนาด APS-C 'Hybrid CMOS' sensor ความละเอียด 18 ล้านพิกเซล ออกแบบโดยรวมชุดเซ็นเซอร์ออโต้โฟกัสแบบ Phase-detection AF อยู่ในชุดเดียวกับเซ็นเซอร์รับภาพ ทำให้ระบบออโต้โฟกัสเมื่อใช้โหมด Live View และ Video ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถปรับออโต้โฟกัสแบบต่อเนื่องได้เมื่อใช้โหมดวิดีโอบันทึกสิ่งเคลื่อนไหวที่มีการเคลื่อนที่ไปมา พร้อมเลนส์คิทใหม่ 18-55 มม. STM ใช้มอเตอร์โฟกัสแบบ stepper motor โฟกัสได้รวดเร็วและเงียบ ปราศจากเสียงดังรบกวน เหมาะสำหรับการใช้งานบันทึกวิดีโอ สำหรับชิปประมวลผลใหม่ 14-bit DIGIC 5 processor นอกจากประมวลผลด้วยความเร็วสูงแล้ว ยังให้ไฟล์ภาพที่มีคุณภาพดีเยี่ยม แสดงสีได้ 14 บิต/สี ให้รายละเอียดภาพและเฉดสีที่สวยงาม สมจริงตามธรรมชาติ มีช่วงความไวแสงกว้าง ISO 100-12800 ขยายเพิ่มได้เป็น 25600 ใช้ถ่ายภาพได้เป็นอย่างดีในทุกสภาพแสง และสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดสิ่งเคลือนไหวได้อย่งง่ายดาย พร้อมระบบถ่าภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 5 เฟรม/วินาที เซ็นเซอร์ออโต้โฟกัสออกแบบใหม่ วางเซ็นเซอร์แบบคู่ หรือกากบาททั้ง 9 จุด รองรับการใช้งานกับเลนส์ F2.8 ( เหมือนกับรุ่น EOS 60D ) ทางด้านระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่ 63 โซน วิเคราะห์ค่าแสงได้อย่างแม่นยำ การบันทึกวิดีโอให้ความละเอียดสูงสุดระดับ 1080p ที่ความเร็ว 30 เฟรม/วินาที เลือกเฟรมเรทได้ และใช้จอมอนิเตอร์ LCD แบบเปิดออกทางด้านข้าง พลิกหมุนได้รอบ อัตราส่วน 3:2 ความคมชุดสูง 1.04 ล้านพิกเซล


ระบบออโต้โฟกัสEOS 700D ใหม่ วางตำแหน่งเซ็นเซอร์โฟกัสแบบกากบาท 9 จุด ตามภาพทางด้านบน (รองรับเลนส์ f/2.8 หรือกว้างกว่าเฉพาะตรงกลาง) โฟกัสได้อย่างรวดเร็วทันใจ สามารถปรับออโต้โฟกัสได้แม้ในที่มืด ปริมาณแสงน้อยต่ำสุด EV -0.5 เลือกโหมดออโต้โฟกัสได้ 3 แบบคือ AI Focus, One Shot, AI Servo  และเลือกจุดโฟกัสได้ 2 แบบคือ อัตโนมัติและเลือกจุดโฟกัสเอง กรณีให้กล้องเลือกจุดโฟกัสอัตโนมัติ กล้องจะปรับโฟกัสสิ่งที่อยู่ทางด้านหน้าสุด และโฟกัสได้อย่างถูกต้องไม่ว่าสิ่งที่ต้องการ ดังเช่นภาพนกเงือกทางด้านบน จะอยู่ทางซ้าย หรือขวา หรือตำแหน่งใดก็ตามที่ตรงกับจุดโฟกัสจุดใดจุดหนึ่งหรือมากกว่าจากทั้ง 9 จุด โดยเลือกจุดโฟกัสได้จากในช่องมองภาพ ซึ่งจะแสดงจุดโฟกัสเป็นจุดสีแดง หรือเลือกจากจอมอนิเตอร์ LCD ปรับเลือกจุดโฟกัสโดยใช้แป้นหมุนควบคุมเลือกคำสั่งหลักทางด้านหน้า หรือปุ่มกด 4 ทิศทางด้านหลัง จุดสีส้มที่ปรากฏบนจอมอนิเตอร์ LCD คือจุดที่ถูกเลือกใช้งาน กรณีถ่ายภาพในที่มืดหรือแสงน้อย มีไฟช่วยหาโฟกัสในตัว ระยะการใช้งานประมาณ 4 เมตร โดยใช้แสงจากแฟลชในตัวกล้องส่องสว่างเพิ่มคอนทราสท์ทำให้กล้องสามารถปรับโฟกัสได้แม้ในที่มืดหรือสภาพแสงที่น้อยมาก อย่างไรก็ตามแสงช่วยหาโฟกัสจะไม่ทำงานเมื่อใช้โหมดบันทึกภาพอัตโนมัติปิดแฟลช โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์ และโหมดถ่ายภาพกีฬา และใช้แสงช่วยหาโฟกัสไม่ได้เมื่อเลือกโหมดออโต้โฟกัสแบบ AI Servo กรณ๊ใช้โหมดบันทึกภาพมาตรฐาน PSAM ต้องกดปุ่มเปิดแฟลชก่อนจึงจะใช้ฟังก์ชั่นแสงช่วยหาโฟกัสได้ ในโหมดออโต้โฟกัส สามารถล๊อคโฟกัสได้โดยกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง และใช้โหมดโฟกัสแบบ One Shot AF mode ส่วนการปรับโฟกัสอัตโนมัติแบบต่อเนื่องติดตามการเคลื่อนที่ ต้องใช้โหมดโฟกัสแบบ AI Servo